แคนาดาเป็นประเทศแรกที่อนุมัติวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากพืชอย่าง “โควิเฟนซ์” ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญและคุ้มค่าสำหรับแนวทางการพัฒนาวัคซีน
บริษัทยาชีวเภสัช “Medicago” ในแคนาดา ได้มีประกาศการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากพืชในปีพ.ศ. 2563 จากการได้รับทุนสนับสนุนจาก Philip Morris International (PMI) จากข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 แคนาดาได้อนุมัติวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตจากพืชเป็นรายแรกของโลก ซึ่งอาจเป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีของวัคซีน
ผู้นำด้านวัคซีนจากพืช
จากการดำเนินงานภายใต้สโลแกน “สุขภาพอยู่ในธรรมชาติของเรา” Medicago ได้อธิบายตัวเองว่าเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในการพัฒนาวัคซีนจากพืช กระบวนการพัฒนาวัคซีนจากพืชนี้ได้ใช้พืชที่มีชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพในการผลิตอนุภาคที่ไม่ติดเชื้อและยังสามารถเลียนแบบเชื้อไวรัสโควิดได้อีกด้วย
เช่นเดียวกันกับวัคซีนที่โดดเด่นอย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา โควิเฟนซ์เป็นวัคซีนที่ต้องฉีดแบบสองเข็ม ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพจากการทดลองทางคลินิก วัคซีนโควิเฟนซ์มีประสิทธิภาพถึง 71% ในการต่อต้านเชื้อโควิด-19 อย่างสายพันธุ์เดลต้าและแกมมา แต่สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนนั้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนต่อไป
รัฐบาลแคนาดาได้มีการประกาศบนเว็บไซต์ว่า “วัคซีนจากพืชสำหรับโควิด-19 มีมาตรฐานความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพระดับสูง” ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปีเท่านั้น
ทำไมวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19จากพืชจึงมีความสำคัญ ?
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก วัคซีนจากพืชมีประโยชน์หลายประการ รวมถึงค่าการผลิตที่ถูกกว่าและยังสามารถปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาต่อไปได้
ยิ่งไปกว่านั้นองค์การอนามัยโลกอ้างว่าความน่าจะเป็นในการปนเปื้อนของไวรัสจากพืชที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์นั้นแทบไม่มีเลย
วัคซีนจากพืชนั้นมีความน่าสนใจอย่างมาก อีกทั้งยังมีศักยภาพสูงในการเร่งกระบวนการพัฒนาอีกด้วย
ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสตัวใหม่ในอนาคต วัคซีนจากพืชอาจมีประสิทธิภาพเหนือกว่าวัคซีนแบบเดิม เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้ระยะเวลาน้อยกว่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19จากพืชชนิดอื่น
ปัจจุบันในประเทศไทย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม (Baiya Phytopharm) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2561 ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากพืชเป็นรายแรกของประเทศโดยใช้พืชยาสูบของออสเตรเลีย
จากการรายงานของ CNBC คาดว่าจะมีการทดลองใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19จากพืชชนิดนี้ในเฟส 3 ช่วงเดือนมิถุนายน และหวังว่าจะได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยภายในไตรมาสที่ 3 ของปีพ.ศ. 2565 นี้
การพัฒนาอย่างรวดเร็วจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในบริบทของการควบคุมโรคจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในอนาคตด้วยวัคซีน
เทคโนโลยีวัคซีนจากพืชอาจมีบทบาทสำคัญในการปรับเทคโนโลยีวัคซีนให้เหมาะสม ตามที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุธีรา เตชะคูณวุฒิ หัวหน้าผู้บริหารของใบยา ไฟโตฟาร์ม ได้เน้นย้ำในการแถลงการณ์ที่ส่งไปยัง Sky News เมื่อเดือนมกราคมว่า “เราใช้เวลาเพียง 10 วันในการผลิตวัคซีนต้นแบบจากพืช และยังใช้เวลาไม่เกินสามสัปดาห์ในการทดสอบว่าวัคซีนต้นแบบนั้นใช้งานได้หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้เราได้ผลิตวัคซีนต้นแบบจากพืชสำหรับสายพันธุ์โอมิครอนสำเร็จแล้วและกำลังอยู่ในช่วงทดสอบ”
อ้างอิง : https://vegconomist.com